บันโด (Bando) เป็นศิลปะต่อสู้-ป้องกันตัวเมียนมา ที่รับพื้นฐานมาจาก กังฟูจีนและการสู้แบบอินเดีย ซึ่งสไตล์ดั้งเดิม จะมีระบบอาวุธหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น มีด, ไม้, ปืน, เชือก, ธนู แต่ในปัจจุบันจะนิยมโจมตีด้วยมือและเท้า หรือเรียกว่า “Bando-thaing” ส่วนข้อมูลอื่นๆ อ่านต่อด้านล่าง
ทำความรู้จัก บันโด / ဗန်တို
บันโด (ဗန်တို) ออกเสียงคล้ายกับ “บูโด” ในภาษาญี่ปุ่น และคำว่า “วูซู่” ในภาษาจีน ซึ่งในนิรุกติศาสตร์บางคน เชื่อว่า Bando มาจากภาษาจีน ในขณะที่บางกลุ่ม เชื่อว่าต้นกำเนิดแท้จริงคืออินเดียหรือทิเบต และเรียกรวมๆ อีกชื่อหนึ่งว่า “Thaing / ไทง”
บันโด มีต้นกำเนิดขึ้นเมื่อไหร่
ตามหลักการปันเซปัง คาดว่ามีในพม่าเมื่อราวๆ ศตวรรษที่ 8 ซึ่งบางคนกล่าวว่า มันมาจากทั้งประเทศจีน และอินเดียตอนใต้ ก่อนจะถึงพม่าในปี ค.ศ. 300 โดยมีด้วยกัน 2 ประเภท เรียกว่า Van To และ Van Yung
ซึ่งในยุคนั้น เคยใช้เพื่อป้องกัน รวมถึงเผยแผ่ศาสนาในเมืองเก่าชาวพยู และเมืองเก่าฮันลิน จากนั้นในยุคล่าอาณานิคมอังกฤษ การฝึกฝน Van To เกือบสูญหายไป เนื่องจากมีการปราบปรามการฝึก และจะถูกมองว่าเป็นกบฏ แต่มีการเผยแพร่ความรู้ลับๆ โดยนักปราชญ์ [1]
เมื่อญี่ปุ่นบุกพม่าในปี 1942 การสู้นี้ถูกสนับสนุน และสร้างระบบขึ้นมา โดยแลกเปลี่ยนเทคนิคมาจากยูโด, ไอคิโด และจูจุตสึ ก่อนที่จะมีการแข่งขันจำนวนมาก หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง
บิดดาแห่ง บันโด ผู้นำการสู้เมียนมาเข้าสู่สหรัฐฯ
บุคคลผู้ได้ชื่อว่า เป็นบิดาแห่งวันโตยุคใหม่ มีชื่อว่า Dr. Maung Gyi ชาวพม่าแท้ๆ ลูกชายของ U Ba Than Gyi อดีตผู้อำนวยการกระทรวงศึกษา ซึ่งหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาส่งให้หมองจีเรียนศิลปะต่อสู้ในหลายสโมสร เช่น Gymkana, Maymyo และ Rangoon Athletic Clubs
พร้อมด้วยอาจารย์ชื่อดังหลายคน ไม่ว่าจะเป็น Saya Saw Ni ชาวกะเหรี่ยง, Saya U Tin Tun ชาวมอญ, Saya Gunju Lama ชาวกุรข่า เป็นต้น กระทั่งช่วงต้นทศวรรษปี 1960 หมองจีเริ่มสอนภาษาพม่าในมหาลัยวอชิงตัน ดี.ซี. จากนั้นอีก 6 ปีต่อมา เขาได้ก่อตั้ง American Bando Association (ABA) ในรัฐโอไฮโอ [2]
คำจำกัดความของ บันโด และระบบย่อยที่ใช้ฝึก
3 คำจำกัดความ
- วิถีแห่งนักรบที่มีระเบียบวินัย
- ระบบการป้องกันตนเอง
- ศิลปะการต่อสู้
3 ระบบย่อยที่ใช้ฝึก
- DHOE / มือเปล่า : อิงทักษะมาจากคิกบ็อกซิงเมียนมา หรือเลธเว่ย (Lethwei) รวมเข้ากับการสู้อิสระ
- DHOT / ไม้เท้า : ด็อต เซย์ (ไม้เท้ายาว), ปองยี ด็อต (ไม้เท้าไซส์กลาง) และ ด็อต เลย์ (ไม้เท้าสั้น)
- DHA / มีดดาบ : มินดา (ดาบยาว), กุครี (ดาบขนาดกลาง) และกริช (มีดสั้น)
เทคนิค บันโด เลียนแบบสัตว์ 13 ท่าทาง
การฝึกฝนประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ ระยะเบื้องต้น ฝึกการอบรมแบบดั้งเดิม, ระยะที่ 2 ฝึกป้องกันตัว เช่น บล็อกหรือปัดป้อง ส่วนระยะที่ 3 ฝึกเทคนิคการรุก-รับ โดยอิงตามการเคลื่อนไหวของสัตว์ ดังต่อไปนี้
- หมูป่า : การเคลื่อนไหวที่ใช้เข่า-ศอก
- วัว : การโจมตีแบบเข้าปะทะ
- งูเห่า : โจมตีตำแหน่งสำคัญช่วงบนของร่างกาย
- กวาง : กระโดดระยะสั้นเพื่อหลบหลีก
- นกอินทรี : โจมตีและป้องกันโดยใช้มือ 2 ข้าง
- ลิง : เคลื่อนไหวแบบคล่องแคล่ว
- นกกระสา : เคลื่อนไหวด้วยแขนด้วยความเร็ว
- เสือดาว : จู่โจมและปะทะคู่ต่อสู้
- งูหลาม : เกี่ยวข้องกับเทคนิค Chokes และ Locks
- แมงป่อง : การบีบรัดและควบคุมศูนย์ประสาท
- เสือ : จู่โจมด้วยท่าการข่วน
- งูพิษ : โจมตีตำแหน่งสำคัญช่วงล่างของร่างกาย
- เสือดำ : รวมการเคลื่อนไหวของสัตว์ทั้งหมด
ที่มา: The techniques used in the Ban-do and training availability [3]
ระบบอาวุธ บันโด ที่มีสตอรี่นานกว่าพันปี
ระบบอาวุธของ Ban-do มีสตอรี่นานกว่าพันปี แต่ในปัจจุบัน สมาคมบันโดแห่งอเมริกา ไม่ส่งเสริมให้ฝึกอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนองค์กรบางแห่ง ยังมีการฝึกรวมถึงแข่งขันด้วยอาวุธปืนและธนู ซึ่งอาวุธดั้งเดิม ยกตัวอย่างเช่น
- อาวุธไม้ : กระบองยาว, กระบองปราบจลาจล, ไม้สั้น, ไม้พก, ไม้เท้า, ไม้พาย ฯลฯ
- อาวุธมีคม : ดาบดา, มีสั้น, กุครี, หอก และอาวุธมีคมทั้งหมด
- อาวุธใช้ยิง : ธนูยาว, ธนูสั้น, ธนูหน้าไม้, หนังสติ๊ก เป็นต้น
- อาวุธที่ยืดหยุ่น : เชือก, สายสะพาย, ไม้อ่อน, ลวด, โซ่ เป็นต้น
- อาวุธปืน : ปืนไรเฟิล, ปืนพก, ปืนลูกซอง, ปืนใหญ่ และอาวุธทางการทหาร
- สารพิษ : สมุนไพร, สารระคายเคือง, สารมึนเมา, พิษจากแมลง เป็นต้น
- กับดัก : กับดักพรางตัว, กับดักสัตว์ และกับดักคน
- สัตว์ที่ใช้ในสงคราม : สุนัข, ม้า, ช้าง, นก ฯลฯ
ที่มา: Weapons System (History) [4]
สรุป บันโด หรือ วันโต
บันโด หรือ วันโต เน้นการป้องกันด้วยการโจมตี และปล่อยให้คู่ต่อสู้เป็นฝ่ายเริ่มก่อน โดยเลียนแบบเทคนิคทุกแบบมาจากสัตว์ คล้ายคลึงกับ เส้าหลินกังฟู และสามารถใช้อาวุธโบราณได้ด้วย ซึ่งจากการผลักดันของ ดร. หมองจี ส่งผลให้ปัจจุบัน มีคนรู้จักค่อนข้างมากในอเมริกา
อ้างอิง
[1] ဝီကီပီးဒီးယား. (October 7, 2021). မြန်မာနိုင်ငံ၌ ဗန်တိုပညာတည်ရှိပုံ. Retrieved from my.wikipedia
[2] USAdojo.com. (February 11, 2015). Maung Gyi: Burmese-Bando. Retrieved from usadojo
[3] Martial Ask. (April 15, 2023). The techniques used in the Bando and training availability. Retrieved from martialask
[4] American Bando Association. (2024). Weapons System (History). Retrieved from americanbandoassociation