ทังต้า (Thang-Ta) เป็นศิลปะต่อสู้แห่งรัฐมณีปุระ ประเทศอินเดีย ที่ขึ้นชื่อเรื่องอาวุธดาบ-หอก ผสมกับการต่อประชิดตัว และประกอบด้วย 3 วิธีปฏิบัติ ได้แก่ พิธีกรรม, สาธิต และการสู้ ซึ่งนักรบชาวเมเตเป็นผู้พัฒนาขึ้น ส่วนข้อมูลอื่นๆ เราจะพาไปรู้จัก
อะไรคือ ทังต้า ในระบบต่อสู้ Huyen Langlon
Thang-Ta หมายถึง การสู้ด้วยอาวุธ โดยมาจาก 2 คำจากภาษามณีปุระ คือ “ทัง = ดาบ” และ “ต้า = หอก” เป็นองค์ประกอบร่วมกับ Sarit Sarak การสู้ปราศจากอาวุธ ซึ่งชื่อทางการก็คือ ศิลปะต่อสู้แห่งการสู้รบ Huyen Langlon ผู้ฝึกจะถูกเรียกว่า Thangmei (ผู้ชาย) และ Thangmeina (ผู้หญิง)
ประวัติความเป็นมาของ ทังต้า พอสังเขป
Thang-Ta เป็นที่รู้จักในอินเดีย รองลงมาจาก กาลาริปายัตตุ (Kalarippayattu) ซึ่งหลักฐานที่แน่ชัดของทัง-ต้า คือบันทึกของบรรพบุรุษ Meitei โดยอธิบายเกี่ยวกับ ธรรมเนียมการสู้สุดเคร่งครัด ที่ผู้ชนะต้องตัดหัวผู้แพ้ และมีข้อห้ามหลายอย่าง เช่น ห้ามวิ่งหนี, ห้ามอ้อนวอน, ห้ามร้องไห้ เป็นต้น
ในยุคของจักรพรรดิปามเฮบาแห่งเมียดิงกุ ระหว่างปี ค.ศ. 1709-1748 มีการปรับระบบเกณฑ์ทหารใหม่ โดยเพิ่มศิลปะต่อสู้ฮูเยนลังลอน ให้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึก กระทั่งในปี 1891-1947 เข้าสู่ยุคล่าอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งสั่งห้ามฝึกต่อสู้ ครอบครองอาวุธ รวมถึงประเพณีรุนแรงอื่นๆ
การฝึกฮูเยนลังลอนเกือบหายไป ก่อนอินเดียได้รับเอกราช แต่ในปัจจุบัน ถูกส่งเสริมให้เป็นหลักสูตรป้องกันตัว และมีการแข่งขันทุกระดับ ทั้งในโรงเรียน เขต รัฐ และระดับชาติ แถมในปี 2009 ผู้สอนฮูเยนลังลองชื่อว่า กุรุมายุม กูราคิชอร์ ชาร์มา ได้รับรางวัลพลเรือนสูงสุดอันดับ 4 จากรัฐบาลอินเดีย [1]
องค์ประกอบหลักใน ทังต้า มีอะไรบ้าง
- สู้ด้วยอาวุธ : เกี่ยวข้องกับอาวุธโบราณของมณีปุระทั้งหมด โดยเฉพาะดาบและหอก หัวใจหลักคือความคล่องตัว แม่นยำ และสร้างความกลมกลืน
- สู้ปราศจากอาวุธ : เกี่ยวข้องกับทักษะต่อสู้ประชิดตัว ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคการตี, เทคนิคจับล็อก และป้องกันตัวด้วยเทคนิคเคลื่อนไหว
- พิธีกรรม (เต้นรำ) : แสดงการเคลื่อนไหวคล้ายท่ารำ ระหว่างเปิดพิธีแข่งขัน ซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม และทางศาสนา
ที่มา: Styles of Thang Ta [2]
สหพันธ์ ทังต้า แห่งประเทศอินเดีย
สหพันธ์ทังต้าแห่งประเทศอินเดีย หรือ Thang-Ta Federation of India (TTFI) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 1993 โดยควบคุมการแข่งขัน เทศกาล และรองรับผู้ฝึกสอน - ผู้เล่นทั่วประเทศอินเดีย ซึ่งในปัจจุบันมีหน่วยงานในเครือถึง 27 แห่ง และจัดแข่งขันทัวร์นาเมนต์ของชาติ มาตั้งแต่ปี 1993
อาวุธบางส่วนที่ใช้ในการต่อสู้ ทังต้า
- ดาบ (Thang) : อาวุธหลัก รูปทรงโค้งเล็กน้อย มาพร้อมด้ามจับ เน้นการฟัน, ผ่า และแทง
- หอก (Ta) : ส่วนใหญ่เป็นกระบอกยาว ติดใบมีดไว้ที่ส่วนปลาย ใช้เพื่อแทง, ปัดป้อง หรือจู่โจมจากระยะไกล
- โล่ (Thok) : เป็นโล่แบบโบราณ ทำจากหนังควาย
- มีดสั้น (Sandek) : อาวุธสู่ระยะประชิด โจมตีรวดเร็ว และมีความเด็ดขาดในครั้งเดียว
- ไม้กระบอง (Khambang) : ทำหน้าที่ได้ทั้งการรุกและรับ รวมไปถึงการปลดอาวุธฝ่ายตรงข้าม
- ดาบยืดหยุ่น (Panthoibi) : หรือดาบแส้ ประกอบใบมีดและด้ามจับมีความยืดหยุ่น
- กระบอง (Mukna Cheibi) : เป็นอาวุธธรรมดา ที่ทรงพลัง เน้นโจมตีแบบหนักแน่นและรุนแรง
- โซ่ (Athen) : ส่วนปลายจะมีน้ำหนักทั้ง 2 ข้าง ใช้เพื่อโจมตี ดักจับ หรือปลดอาวุธ
ที่มา: Thang Ta Weapons [3]
กฎกติกาสำหรับแข่งขัน ทังต้า เป็นแบบไหน
กติกาการแข่งขัน Thang-Ta แตกต่างกันตามพื้นที่ แต่มีกฎบางข้อ ที่แต่ละรัฐใช้ร่วมกัน ดังนี้
- ทำคะแนนจากการสู้ด้วยอาวุธ หรือทำให้คู่แข่งล้มสัมผัสพื้น เช่น ทำให้สะดุด, โยน เป็นต้น
- แข่งขันในวงกลม เส้นรอบวงประมาณ 6 เมตร และขนาดสนามประมาณ 9 เมตร
- มีการกำหนดขอบเขตผู้ตัดสิน ห่างจากกลางสนาม 1.5 เมตร ในทิศทางของกรรมการ
- มีการกำหนดขอบเขตผู้แข่ง ห่างจากกลางสนาม 1.5 เมตร ในทิศทางของแต่ละคน
- อาวุธไม้ที่อนุญาตให้ใช้ เช่น ไม้ตรง, ไม้โค้ง และไม้ที่มีน้ำหนัก
- แข่งทั้งหมด 2 รอบ รอบละ 3 นาที มีเวลาพัก 1 นาที ใครทำคะแนนได้มากสุดชนะ
- ตลอดการแข่งขัน ประกอบด้วยผู้ตัดสินกลาง ผู้ให้คะแนน 6 คน คนจับเวลา 1 คน และหัวหน้ากรรมการ 1 หรือ 2 คน
สรุป ทังต้า
ทังต้า หรือศิลปะต่อสู้แห่งการสู้รบ Huyen Langlon ถูกสร้างขึ้นจากชาวเมเต และถูกใช้ฝึกให้กับทหารของ จักรพรรดิปามเฮบาแห่งเมียดิงกุ (1709-1748) โดยมีอาวุธดาบ-หอกเป็นหัวใจหลัก และมักใช้ร่วมกับ Sarit Sarak ซึ่งยุคปัจจุบัน เพิ่มสไตล์เต้นรำ เข้ามาเป็นอีกส่วนหนึ่งของระบบ
อ้างอิง
[1] Wikipedia. (June 13, 2024). History. Retrieved from en.wikipedia
[2] SEG Sarkari Exam Gyaan. (May 6, 2024). Styles of Thang Ta. Retrieved from sarkariexamgyaan
[3] Kreedon. (July 28, 2023). Thang Ta Weapons. Retrieved from kreedon