คานน์เดอคอมแบต (Canne de combat) หรือคานน์ดาร์ม เป็นศิลปะต่อสู้ด้วยไม้ ที่กำเนิดในฝรั่งเศส ซึ่งมีสไตล์การเล่น รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ คล้ายกับกีฬาฟันดาบ หรือกีฬา อาร์นิส (Arnis) ของฟิลิปปินส์ ส่วนข้อมูลเพิ่มเติม มีรายละเอียดต่อไปนี้
รู้จักกับ คานน์เดอคอมแบต มันคืออะไร
คานน์ เดอ คอมแบต เป็นกีฬาต่อสู้แบบ Percussion ที่ใช้อาวุธไม้ เพื่อการโจมตี ซึ่งมีการใช้เทคนิคกระโดด พุ่ง หมุนวง หลบหลีก และปัดป้อง ประกอบกับไม้กระบองน้ำหนักเบา สวมชุดบุนวม รวมถึงหน้ากากฟันดาบ ซึ่งการเล่นต้องอาศัยความเร็ว และแม่นยำ
เล่าถึงประวัติ คานน์เดอคอมแบต เกิดขึ้นยังไง
กีฬาฟันดาบคานน์ดาร์ม ถูกพัฒนาขึ้นประมาณศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีหลักฐานหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น บทความของ Leboucher และ Larribeau รวมถึงห้องเก็บอาวุธไม้โบราณ ที่ค้นพบในฝรั่งเศส โดยเฉพาะกรุงปารีส
กระทั่งในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 กีฬากระบองชนิดนี้ ถูกใช้เพื่อฝึกทักษะในหมู่ทหาร ก่อนที่จะความนิยมลดลง เมื่อมีปรมาจารย์หลายคนเสียชีวิต ก่อนที่ทศวรรษปี 1970 คานน์ดาร์มเวอร์ชันแรก จะถูกพัฒนาขึ้นจาก Bernard Plasait และ Maurice Sarry พร้อมกำหนดกฎที่ใช้มาถึงปัจจุบัน
ซึ่งศิลปะต่อสู้นี้ อยู่ภายใต้การดูแลของ คณะกรรมการไม้เท้าต่อสู้แห่งชาติ (CNCCB) องค์กรเครือเดียวกันกับ สหพันธ์มวย ซาวาเต้ แห่งฝรั่งเศส และได้รับการกำหนดระเบียบต่างๆ โดยสหพันธ์ซาวาเต้นานาชาติ [1] จนถึงปี ค.ศ. 1978 มีการก่อตั้งสหพันธ์ Canne de Combat ขึ้นมา
กีฬา คานน์เดอคอมแบต ในโอลิมปิกและอเมริกา
ก่อนที่จะก่อตั้งสหพันธ์คานน์ดาร์มขึ้นมา กีฬานี้เคยปรากฏใน การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ปี 1900 และ 1924 กรุงปารีส ซึ่งมีการสาธิตจากนักสู้ชาย 2 คน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ณ Velodrome d'Hiver
ส่วนการเผยแพร่ไปสู่สหรัฐอเมริกา ผู้นำเข้าคือ Jean-Noel Eynard ที่ได้นำการต่อสู้สไตล์นี้ ผสมกับมวยซาวาเต้ ไปยังชายฝั่งทิศตะวันออก จากนั้นในปี 1983 สโมสรแห่งแรกถูกเปิดในอเมริกา ที่ฟิลาเดลเฟีย และถูกสอนในรัฐเทนเนสซีเมื่อปี 1994
กฎเกณฑ์ คานน์เดอคอมแบต เบื้องต้น
ระบบการต่อสู้ของ คานน์ เดอ คอมแบต สมัยใหม่ จะแข่งขันภายในสังเวียน โดยมีผู้เล่น 2 คน ถือไม้เท้าด้วยมือข้างเดียว ซึ่งใช้การโจมตีเทคนิคแนวนอน-แนวดิ่ง ห้ามแทงตรงๆ เด็ดขาด ตำแหน่งที่ทำคะแนน เช่น น่อง ลำตัว และศีรษะ หากไม้เท้าสัมผัสจุดต้องห้าม จะได้รับบทลงโทษ
องค์ประกอบการแข่งขัน คานน์เดอคอมแบต
อุปกรณ์
- ไม้เท้า : ยาวประมาณ 95 ซม. น้ำหนัก 120-180 กรัม, ทำจากไม้หวายหรือไม้เกาลัด
- ถุงมือ : มีแผ่นรองนวม ส่วนใหญ่มักมีข้อต่อเพื่อเสริมแรงด้วย
- หน้ากาก : หน้ากากฟันดาบ หรือสวมหมวกกันน็อก
- Chest Protector : หรืออุปกรณ์ป้องกันลำตัว
- สนับแข้ง : ป้องกันส่วนขาจากการเหวี่ยงไม้
กฎระเบียบ
- การแข่งขัน : 3 รอบต่อแมตช์ รอบละ 2 นาที พักเบรก 1 นาทีระหว่างรอบ
- ตีหัว : รับคะแนน 2 แต้ม
- ตีขา-ลำตัว : รับคะแนน 1 แต้ม
- บทลงโทษ : เช่น แทงหรือตีด้วยไม้ที่ไม่ใช่อาวุธ, ตีหลัง ท้ายทอย หรือมือ, ใช้กำลังเกินควบคุม
เทคนิค
- Coup de tête : โจมตีแนวตั้งเหนือหัว
- Coup d'estomac : โจมตีแนวนอนพุ่งไปที่ท้อง
- Coup de figure : โจมตีแนวทแยงไปที่ใบหน้า
- Coup de bras : โจมตีแนวนอน-ทแยงบริเวณแขน
- การบล็อค : ใช้ไม้กระบองบล็อคจังหวะคู่แข่ง
- การหลบ : เคลื่อนไหวเพื่อหลบแบบเร็วๆ หรือเอสไควฟ์
ที่มา: Equipment, Techniques, Rules and regulations [2]
2 ทัวร์นาเมนต์ คานน์เดอคอมแบต มีอะไรบ้าง
ทัวร์นาเมนต์ภายในฝรั่งเศส
จัดแข่งขันระดับชาติโดย CNCCB ทั้งหมด 4 รายการ ได้แก่ ชิงแชมป์ฝรั่งเศส ผู้เข้าร่วมต้องใบอนุญาต, แข่งขันนานาชาติฝรั่งเศส เข้าร่วมได้ทุกคนแม้กระทั่งชาวต่างชาติ และแข่งขันเยาวชนระดับชาติ
นอกจากนี้ ยังมีการแข่งท้องถิ่น เช่น Miladiou ในชุมชนฟิกีอัก จัดตั้งแต่ปี 2003, TiTis Parisien ในกรุงปารีส จัดมาตั้งแต่ปี 2005 และ Bazhataeg ในภูมิภาคบริตตานี เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้น
ทัวร์นาเมนต์นานาชาติ
มีการแข่งขันทางการ 2 ทัวร์นาเมนต์ คือ ชิงแชมป์โลก จัดขึ้นปีแรก 2004 และอีกรายการคือชิงแชมป์ยุโรป จัดขึ้นปีแรก 2006 ถึงปัจจุบัน ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 2 ปีทั้งสองรายการ นอกจากนี้ ยังมีรายชื่อในรายการ กีฬาต่อสู้โลกปี 2013 อีกด้วย
ที่มา: Les compétitions [3]
สรุป คานน์เดอคอมแบต
คานน์เดอคอมแบต หรือกีฬาไม้กระบองฝรั่งเศส ที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษ 19 โดยมีเทคนิคการเล่น คล้ายกับฟันดาบสากล ไม่ว่าจะเป็น จู่โจม หลบหลีก และเครื่องแต่งกาย แต่เปลี่ยนจากอาวุธดาบ เป็นอาวุธไม้ ซึ่งเคยปรากฏชื่อในกีฬาสาธิตโอลิมปิกถึง 2 ปี รวมถึงในวรรณคดี และแวดวงภาพยนตร์อีกด้วย
อ้างอิง
[1] Zeste de savoir. (December 18, 2023). Présentation, Historique. Retrieved from zestedesavoir
[2] Combatpit.com. (February 3, 2024). Equipment, Techniques, Rules and regulations. Retrieved from combatpit
[3] Wikipedia. (June 10, 2024). Les compétitions. Retrieved from fr.wikipedia